ศาลยุติธรรม
องค์กรบริหารศาลยุติธรรม
องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่บริหารงานของศาลยุติธรรม แบ่งออกเป็น ๓ องค์กร คือ
๑. คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ) ลิงค์เว็บไซต์
๒. คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ลิงค์เว็บไซต์
๓. คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) ลิงค์เว็บไซต์
คณะกรรมการบริการศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ)
เป็นองค์กรบริหารที่ทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ เป็นผู้กำหนดโครงสร้างของสำนักงานศาลยุติธรรม ตลอดจนการแบ่งส่วนราชการภายในองค์กร วางระเบียบข้อบังคับในการบริหารราชการ ให้ความเห็นชอบแก่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการให้ความเห็นชอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้ความเห็นชอบในการบริหารจัดการงบประมาณและพัสดุ กำกับดูแลการบริหารราชการของสำนักงานศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผน รวมทั้งมีอำนาจสั่งยับยั้งการบริหารราชการที่ไม่ถูกต้องได้ ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง ยุบเลิก หรือเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล กำหนดจำนวนผู้พิพากษาในแต่ละศาลให้เหมาะสมตามความจำเป็นของทางราชการ
คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง และข้าราชการตุลาการในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ที่ได้รับเลือกจากผู้พิพากษาทั่วประเทศชั้นศาลละ ๔ คน กับบุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิด้านงบประมาณ ด้านพัฒนาองค์กร หรือด้านบริหารจัดการที่ประธาน ก.บ.ศ. และ ก.บ.ศ. ประจำศาลเลือกมาไม่น้อยกว่า ๒ คน แต่ไม่เกิน ๔ คน คณะกรรมการชุดนี้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี
คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)
ทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการ โดยเป็นองค์กรที่มีบทบาท และภารกิจในการวางแผนกำลังคนในด้านตุลาการ เป็นต้นว่าการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง การสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพ การบรรจุแต่งตั้ง การพัฒนาบุคลากร การควบคุมให้ข้าราชการตุลาการอยู่ในกรอบแห่งจริยธรรม และมาตรการในการรักษาวินัยโดยอาศัยระบบคุณธรรม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้พิพากษามีหลักประกันอันมั่นคงว่าจะได้รับการสนับสนุนและการคุ้มครองให้มีความอิสระอย่างแท้จริง
คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลฎีกาจำนวน ๖ คน ศาลอุทธรณ์จำนวน ๔ คน และศาลชั้นต้นจำนวน ๒ คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่วุฒิสภาคัดเลือกอีก ๒ คน ซึ่งมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี
คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.)
มีบทบาทหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการศาลยุติธรรมตั้งแต่การกำหนดสายงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นในการปฏิบัติงานสร้างเกณฑ์มาตรฐานสำหรับกำหนดตำแหน่ง วางแผนอัตรากำลังคน การสรรหาบุคลากร กำหนดวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง การบรรจุ แต่งตั้ง สิทธิประโยชน์ ค่าตอบแทน การพัฒนาบุคลากร วินัย การลา สวัสดิการอื่นๆ
คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ประธานศาลอุทธรณ์เป็นประธาน และมีรองประธานศาลฎีกาซึ่งมีอาวุโสสูงสุด เลขาธิการ ก.พ. และเลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรมเป็นกรรมการโดยตําแหน่ง พร้อมกับข้าราชการตุลาการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก ก.ต. ชั้นศาลละ ๑ คน ข้าราชการศาลยุติธรรมระดับ ๘ ขึ้นไป ที่ได้รับเลือกจากข้าราชการศาลยุติธรรมระดับ ๖ ขึ้นไป จำนวน ๕ คน และบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาองค์กร ด้านการบริหารงานบุคคล หรือด้านการบริหารจัดการที่ ก.ศ. เลือกมา ไม่เกิน ๓ คน ร่วมเป็นกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี