Accessibility Tools

ศาลยุติธรรม
Court of Justice

เกี่ยวกับเรา
image

ศาลยุติธรรม

ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมimage

ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

๑. ผู้พิพากษา

         ผู้พิพากษาต้องผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นอกจากนั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ เช่น มีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ เป็นเนติบัณฑิตไทย มีประสบการณ์ทำงานด้านกฎหมายไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ผู้สมัครจะต้องผ่านการสอบข้อเขียนและการสอบปากเปล่าตามระเบียบที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุตธรรมกำหนด เมื่อผ่านการสอบคัดเลือกแล้วจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วย

ผู้พิพากษา เข้ารับการอบรมเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาอย่างน้อย ๑ ปี ผู้ที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาประจำศาลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ปี แล้วจึงได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้น โดยก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาทุกคนต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์

กฎหมายกำหนดให้ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

๑. ตาย ๒. ลาออก ๓. พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ๔. โอนไปรับราชการฝ่ายอื่น

๕. ออกจากราชการเพื่อไปรับราชการทหาร ๖. ถูกสั่งให้ออกจากราชการตามที่กฎหมายกำหนด ๗. ถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออก ๘. วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่ง

 

๒. ผู้พิพากษาอาวุโส

         ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้พิพากษามีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบปีและผ่านการประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีในศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ หรือศาลชั้นต้น จนกระทั่งมีอายุครบ ๗๐ ปีบริบูรณ์

ผู้พิพากษาอาวุโสไม่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในทางบริหารได้ เช่นไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล นอกจากนี้ผู้พิพากษาอาวุโสไม่มีสิทธิรับเลือกเข้ามาเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือกรรมการบริหารศาลยุติธรรม แต่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกรรมการดังกล่าว

 

๓. ผู้พิพากษาสมทบ

          ผู้พิพากษาสมทบ คือบุคคลภายนอกที่ได้รับเลือกเป็นพิเศษให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับผู้พิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งนี้เพื่อให้มีบุคคลภายนอกที่มีประสบการณ์หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาและพิพากษาคดีกับผู้พิพากษาผู้พิพากษาสมทบเป็นตำแหน่งที่แตกต่างจากผู้พิพากษา คือ เป็นตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งประจำ วาระในการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบขึ้นอยู่กับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษและศาลชำนัญพิเศษ ที่ผู้พิพากษาสมทบปฏิบัติงานกำหนดไว้

๔. ดะโต๊ะยุติธรรม

        พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.๒๔๘๙ บัญญัติให้สามารถนำกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกมาใช้แทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในการพิจารณาคดีครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในศาลชั้นต้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์ จำเลย หรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ในกรณีเช่นนี้ผู้พิพากษาและดะโต๊ะยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้ที่มีความชำนาญในกฎหมายอิสลามจะนั่งพิจารณาคดีร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายอิสลามดะโต๊ะยุติธรรมจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี เข้าใจภาษาไทยในระดับที่กำหนดไว้ และมีความรู้เกี่ยวกับหลักศาสนาและกฎหมายอิสลาม